นักบริหารมืออาชีพตามแนวทางพระราชดำริ
และตามแนวความคิดของนักวิชาการ
แนวทางพระราชดำริสู่การบริหารภาครัฐ

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้ปาฐกถาเรื่อง “แนวทางพระราชดำริสู่การบริหารภาครัฐ” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุสิต เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 โดยนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาพูดถึง พลเอกเปรมได้ย้ำว่า พระราชดำริเป็นสิ่งบริสุทธิ์สะอาดและศักดิ์สิทธิ์ ผู้รับไปปฏิบัติย่อมเป็นมงคลแก่ชีวิต เป็นเกราะป้องกันความเสื่อมเสีย ผู้ใดสามารถปฏิบัติได้ครบถ้วนต้องได้รับการยกย่องสรรเสริญ
แนวทางพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ไว้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รวบรวมได้มี 14 ประการ ดังนี้
1.การบริหารจะต้องเป็นการบริหารเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อความเจริญของประเทศ และเพื่อความผาสุกของประชาชน การบริหารจะต้องไม่เอาประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ของญาติพี่น้อง ประโยชน์ของบริวารเข้ามาเกี่ยวข้อง
2.จะต้องบริหารด้วยความสามัคคี เพราะจะนำไปสู่ความร่วมมือและความเข้มแข็ง ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จ
3.จะต้องบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะต้องซื่อสัตย์สุจริตทั้งในความคิด การพูด และการกระทำ พลเอกเปรมให้ความเห็นส่วนตัวเป็นการขยายความว่า ผู้บริหารนอกจากจะซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ต้องดูแลคนรอบข้างตัวเราให้ซื่อสัตย์สุจริตด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารจำต้องเพิ่มเติมคำว่า เสียสละและจงรักภักดีเข้าไปด้วย
4.จะต้องเป็นการบริหารที่ถูกต้อง คือถูกต้องตามกฏหมาย ตามกฏเกณฑ์ เที่ยงธรรม เที่ยงตรง มีประสิทธิภาพ และให้ประสิทธิผลสูง พลเอกเปรมมีความเห็นส่วนตัวว่าผู้บริหารจะต้องมีมาตรฐานเดียวเสมอหน้ากัน ทั่วถึงกัน ต้องไม่มีหลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลย หรือใช้มาตรฐานตามอารมณ์ มาตรฐานตามกิเลส
5.จะต้องเป็นการบริหารที่เป็นเอกภาพ คือการประสานงาน ประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงาน
6.ต้องบริหารด้วยความเฉียบอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น พระมหาชนก ต้องไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวเหนื่อย ดำรงความมุ่งหมายอย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญอุปสรรคและอดทนต่อความยากลำบาก
7.ผู้บริหารต้องไม่หวาดกลัวต่ออิทธิพลใดๆ และต้องอยู่คนละฝ่ายกับความไม่ถูกต้อง
8.ผู้บริหารจะต้องศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง อย่างลึกซึ้ง อย่างกว้างขวาง ทั้งทางลึกและทางกว้าง
9.ผู้บริหารจะต้องมีความสำนึกในความรับผิดชอบ และเห็นความสำคัญของงาน ความรับผิดชอบหมายรวมถึงความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามกฏที่กำหนด พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า การเห็นความสำคัญของงาน ความสำนึกในความรับผิดชอบ และความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องทำพร้อมและควบคู่กันไป
10.ผู้บริหารจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและฉลาด มีความถูกต้องเหมาะสม การที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทฤษฎีใหม่ที่ได้ยินกันจนชินหูว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นการชี้แนวทางในการดำรงชีวิตใหม่ให้พวกเราพออยู่พอกิน ทำให้เกิดการสมดุล การดำรงชีพอย่างประหยัดและฉลาด
11.ผู้บริหารจะต้องมีสติปัญญา สามารถพิจารณาปัญหาได้กว้างไกลรอบคอบทุกแง่มุม พลเอกเปรมเห็นว่าผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะในสาขาอาชีพของตน
12.ผู้บริหารต้องแน่วแน่ที่จะแก้ไขในสิ่งผิด ผู้บริหารจะต้องกล้าที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ผิด และมีความแน่วแน่ที่จะแก้ไข การบริหารย่อมผิดพลาดได้ แม้จะรอบคอบ ระมัดระวังแล้ว ดังนั้น การแก้ไขสิ่งที่ผิดจึงมิใช่เรื่องน่าละอาย การทำชั่วประพฤติชั่วต่างหากน่าละอาย
13.ผู้บริหารจะต้องบริหารแบบปิดทองหลังองค์พระปฏิมา พลเอกเปรมเดาว่าทรงหมายถึงการไม่โอ้อวดมุ่งแต่ผลงาน ไม่หวังคำชมเชย ภูมิใจแต่ความสำเร็จ
14.ผู้บริหารทุกระดับที่มีผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
นักบริหารมืออาชีพ น่าจะนำ แนวทางพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ไว้ ทั้ง 14 ประการนี้ไปประพฤติปฏิบัติหรือสำรวจตัวเอง ถ้ามีข้อใดขาดตกบกพร่องก็ควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อเป็นมงคลต่อชีวิต และจะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ตามที่พลเอกเปรมกล่าวไว้

วินัยห้าประการหรือศีลห้าประการของผู้บริหาร
ศาสตราจารย์ ดร.พจน์ สะเพียรชัย ได้ให้ความคิดว่า การที่ผู้บริหารโรงเรียนจะทำให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ควรมีวินัยหรือศีล 5 ประการด้วยกัน ดังนี้
1.ความเป็นเลิศของบุคคล (Personal Mastery) คือ “การเป็นนายตนเอง” หมายถึง มีความกระตือรือร้น เพื่อจะเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตนเองอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นเลิศในการใฝ่รู้ อยากจะเปลี่ยนแปลงเสาะแสวงหาความรู้อยู่เสมอ
2.รูปแบบวิธีคิด (Mental Models) คือต้องมีรูปแบบวิธีคิด เช่น คิดตามบันไดของการคิด เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจและการกระทำใดๆในการบริหารจัดการ โดยเริ่มจาก บันทึกข้อมูลจากประสบการณ์ จัดระบบข้อมูล ตีความข้อมูล ตั้งข้อสันนิษฐาน เกิดความเชื่อ ปฏิบัติตามความเชื่อ เป็นต้น
3.การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared Vision) วิสัยทัศน์หมายถึง การมองภาพไปข้างหน้าว่า สิ่งที่เราพึงปรารถนาคืออะไร อยากจะเห็นโรงเรียนเป็นอย่างไร ดังนั้นการสร้างวิสัยทัศน์ จะต้องมีส่วนร่วมของทุกคนในโรงเรียน หรือทุกคน “ร่วมคิด ร่วมทำ (Co-creating)”
4.การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning) มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น การประชุม การพูดจาเสวนา การคิดร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นต้น
5.การคิดอย่างเป็นระบบ (System Thinking) คือการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็น “วิธีการวิจัย” หรือ “วิธีการเรียนรู้” หรือ “วิธีแก้ปัญหา” นั่นเอง
นักบริหารในองค์กรต่างๆก็ควรมี “วินัยห้าประการหรือศีลห้าประการของผู้บริหาร” นี้เช่นกัน จึงจะได้ชื่อว่าเป็น นักบริหารมืออาชีพ

ภาวะผู้นำของผู้บริหาร

ศาสตราจารย์ ดร.พจน์ สะเพียรชัย ได้ให้ความคิดเพิ่มเติมอีกว่า ผู้บริหารควรมีบทบาทหน้าที่ 6 ลักษณะด้วยกัน ดังนี้
1.เป็นผู้ออกแบบ (Designer) คือออกแบบวิธีคิด ออกแบบองค์กร ออกแบบวัฒนธรรมขององค์กร ฯลฯ
2.เป็นผู้ให้บริการ (Steward) คืออำนวยความสะดวก ให้ความสะดวก ให้บริการช่วยเหลือ ลงไปคลุกช่วยเหลือทุกอย่าง
3.เป็นครู (Teacher) คือเป็นครูของลูกน้อง สอนความรู้ให้ลูกน้อง
4.เป็นผู้สอน (Instructor) คือสอนการทำงานแก่ลูกน้อง
5.เป็นผู้ฝึก (Coach) หรือเป็นโค้ช เช่น ผู้ฝึกหรือโค้ชคอยประกบผู้เล่นแบบตัวต่อตัว คอยชี้จุดอ่อนจุดแข็งให้ แนะนำเทคนิคให้ ผู้บริหารจึงควรมีบทบาทหน้าที่นี้แก่ลูกน้องด้วย
6.เป็นพี่เลี้ยง (Mentor) คือให้คำปรึกษาหารือ คอยดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
นักบริหารมืออาชีพ ควรมี ภาวะผู้นำของผู้บริหาร หรือ มีบทบาทหน้าที่ทั้ง 6 ลักษณะนี้เช่นกัน

ผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ

ตามแนวความคิดของ รองศาสตราจารย์.ดร.อุทัย บุญประเสริฐ
จากเอกสารประกอบการศึกษา วิเคราะห์ทางวิชาการบริหารการศึกษา เรื่อง “ผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ” ของ รองศาสตราจารย์ ดร.อุทัย บุญประเสริฐ ได้เสนอลักษณะที่สำคัญๆที่ควรจะมีปรากฏให้เห็นในตัวบุคคลที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา คือ
1.ความสามารถในเชิงวิชาการที่เป็นที่ยอมรับของคนในวงการบริหารสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไปกับงานการศึกษาของสถานศึกษา
2.ความเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริตและยุติธรรม
3.การเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ เห็นการณ์ไกล มองอนาคตขององค์การ และวางแผนสำหรับวันข้างหน้าเป็นหลัก
4.ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา
5.ความสามารถในการบริหารจัดการ
6.ความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักสูตร ศาสตร์การสอน รูปแบบการเรียนการสอน
7.ความรู้และความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในระดับที่เพียงพอ
8.ความสามารถในการแสวงหาทุน แหล่งทุน และการบริหารงบประมาณของสถานศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ
9.การเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย
ผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ ก็หมายถึง นักบริหารการศึกษามืออาชีพ นั่นเอง ดังนั้นแนวความคิดของ รองศาสตราจารย์ ดร.อุทัย บุญประเสริฐ ทั้ง 8 ข้อนี้นักบริหารการศึกษามืออาชีพน่าจะนำไปวิเคราะห์ตัวเองได้เช่นกัน
นักบริหารมืออาชีพตามแนวความคิดของ ดร.รุ่ง แก้วแดง
ดร.รุ่ง แก้วแดงได้บรรยายพิเศษเรื่อง “เทคนิคการเป็นผู้บริหารมืออาชีพ” ไว้ มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับนักบริหารมืออาชีพ ที่น่าสนใจ ดังนี้
ศาสตร์การบริหารโดยเฉพาะด้านการบริหารการศึกษา หาตัววัดมืออาชีพยาก และคำว่า "มืออาชีพ" (Professional) เป็นคำที่เราไปยืมมาจากวงการกีฬา ในวงการกีฬา มีอยู่ 2 คำคือ มืออาชีพ และมือสมัครเล่น ซึ่งแยกความต่างได้ชัดเจน หากเมื่อไหร่เป็นมืออาชีพ แปลว่าคนคนนั้นต้องดำรงชีวิตด้วยกีฬาประเภทนั้น เช่น นักฟุตบอลอาชีพ นักมวยอาชีพ ขณะนี้กีฬาทุกชนิดเป็นอาชีพได้แล้ว เช่น กอล์ฟ จากมือสมัครเล่น ต้อง Turn Pro ซึ่งต้องได้ Handy Cap ไม่เกิน 3 แล้วไปทดสอบเงื่อนไขของการ Turn Pro และจะดำรงชีวิตด้วยรายได้จากการแข่งกอล์ฟ จุดเด่นของวงการกีฬาคือทุกครั้งที่มีการแข่งขันจะมีคะแนน คนที่จะยังชีพด้วยกีฬาต้องอยู่ลำดับต้นๆ ของสาขานั้น
การได้มาของมืออาชีพ มีเงื่อนไขมากมาย เช่น เงื่อนไขในการเป็นมืออาชีพของ Tiger Woods คือ การเป็นอัจฉริยะ ในรอบ 100 ปี จะมี 1 คน มีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง มีการฝึกฝน และพัฒนาตนเองตลอดเวลา เสริมสร้างพลังของกล้ามเนื้อ
ดังนั้น Vision ของนักบริหารคือ การเป็นนักบริหารมืออาชีพ คำทุกคำมีที่มา มีศาสตร์กำกับ เพื่อให้เราได้ย้อนกลับไปทบทวนในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารมืออาชีพด้านการบริหารนั้นต้องประกอบด้วย
1.ความเป็นมืออาชีพต้องมีศาสตร์กำกับ หรือมีการศึกษา มีการเรียน ปัญหาที่พบมากในการเรียน คือศาสตร์ไม่แข็ง เปรียบเสมือนยืนบนพื้นดินที่ไม่แข็ง เมื่อพื้นฐานไม่แข็งแกร่งพอ ทำให้เดินต่อไปไม่ได้
2. การฝึกฝนเป็นเรื่องจำเป็น ต้องทำตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือต้องบูรณาการการบริหารเข้ากับกระบวนการให้ได้
3.ใช้กระบวนการ PDCA ทุกปัญหาต้องมีการวางแผนการทำงานโดยใช้ กระบวนการ PDCA ซึ่งแยกได้ดังนี้
P = Planning (วางแผน)
D = Doing (ปฏิบัติ)
C = Checking (ตรวจสอบ)
A = Acting (ปรับปรุง แก้ไข)
การประยุกต์หรือบูรณาการเป็นสิ่งยาก การทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายต้องวางแผนและใช้กระบวนการ PDCA ซึ่งช่วงแรกอาจมีปัญหาเพราะเราไม่ได้ใช้หลักวิชา เราจึงบูรณาการหลักวิชาเข้าไปไม่ได้ ทำให้กระบวนการบริหาร และการบริหารแยกเป็นคนละเรื่องกัน ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงต้องฝึกฝนจนเป็นนิสัย ให้สามารถบริหารงานโดยใช้ศาสตร์ ใช้ PDCA ตลอดเวลา ประเทศญี่ปุ่นสมัยก่อนคล้ายประเทศไทย แต่เมื่อใช้ PDCA เข้ามาบริหาร ทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศไทยไม่มีการการทำ PDCA จึงไม่เกิดการพัฒนา
4.ใช้เทคนิคและกระบวนการวิจัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการหาความรู้ รวมถึงการบริหาร แต่คนไทยส่วนใหญ่มีเจตคติที่ไม่ดีกับการวิจัย การวิจัยคือการทำอย่างเป็นระบบ (Systematic) หรือเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้การบริหารแบบมืออาชีพต้องบูรณาการ 3 ส่วนคือ งาน กระบวนการบริหาร PDCA และกระบวนการวิจัย
โดยสรุป การเป็นมืออาชีพด้านการบริหารได้มาจากการฝึกฝน อบรม และทำอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความชำนาญ เช่นเดียวกับการเล่นกอล์ฟ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นหมื่นเป็นแสนลูกกว่าที่จะบังคับให้ลูกกอล์ฟไปตามทิศทางที่กำหนดได้ หรือเรื่องการฝึกสมาธิ ที่สอนง่าย แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นเวลานานกว่าจะทำให้จิตนิ่ง และมีสมาธิได้ เพราะธรรมชาติของจิตนั้นเหมือนลิงที่อยู่ไม่นิ่ง การได้มาซึ่งสมาธิ จึงมาจากการฝึกฝนอย่างแท้จริง เมื่อเกิดสมาธิจึงเกิดปัญญา เห็นได้ชัดในเด็กสมาธิสั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ คนญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีวินัยมาก และเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง คนญี่ปุ่นจึงใช้การจดบันทึกทุกขั้นตอนอย่างละเอียดในการเรียนรู้ทุกเรื่องทำ-ให้เกิดเป็นศาสตร์ อีกทั้งยังมีการพัฒนา และวิจัยอย่างต่อเนื่อง แต่คนไทยไม่จดบันทึก และไม่ใช้กระบวนการวิจัย จึงไม่เกิดการพัฒนา สมัยหนึ่งเราเคยผลิตข้าวได้มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเราไม่เคยใช้กระบวนการวิจัยทำให้ตอนนี้เรายังได้ผลผลิตเท่าเดิม ขณะที่ประเทศอื่นๆ พัฒนาขั้นเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้ผลผลิตของเราได้ต่ำกว่าประเทศอื่น

ผู้นำที่ดีในการบริหารราชการแผ่นดิน
ตามความคิดของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความคิดว่า ความเป็นผู้นำในวิถีทางประชาธิปไตยที่ดีมี 5 ประการ คือ
1.ต้องมีจุดยืนและวิสัยทัศน์ คือคนที่เป็นผู้นำต้องแสดงให้เห็นจุดยืนในการบริหารว่าอยู่บนหลักการ หากไม่มีจุดยืน ไม่อยู่กับร่องกับรอย ผลกระทบจะอยู่ที่ประชาชน
2.ประสานการมีส่วนร่วม และประโยชน์เพื่อประชาชนและประเทศชาติ คือจะต้องประสานประโยชน์ให้ลงตัวกับส่วนรวมได้ และจะต้องหาวิธีประสานประโยชน์ให้รอบด้านตั้งรัฐ เอกชน ผู้ลงทุน และประชาชน
3.ต้องเปิดโอกาสให้ตรวจสอบ และมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ รวมถึงต้องเปิดเผยข้อมูลในการตัดสินใจ เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันได้แสดงความคิดเห็นต่อสังคมได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นต่อสังคมได้
4.ต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในสังคม เพื่อให้ประชาชนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว เป็นคนไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่เป็นโรคประชานิยม รู้จักพึ่งตนเองได้ มีความสำนึกในเศรษฐกิจพอเพียง
5.ต้องมีคุณธรรม คือถ้าผู้นำขาดคุณธรรมแต่มีอำนาจ ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการบริหารงาน จึงเป็นเรื่องยากที่จะปลูกฝังให้ประชาชนมีคุณธรรมได้ เพราะผู้นำไม่เป็นตัวอย่างที่ดีกับประชาชน
ผู้นำที่บริหารราชการแผ่นดินทั้งระดับชาติคือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้บริหารในกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ รวมทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และองค์กรส่วนท้องถิ่น ล้วนแต่มี “ผู้นำ” ทั้งสิ้น ถ้าได้นำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติ ประชาชนจะ “อยู่ดีมีสุข” แน่นอน
นักบริหารมืออาชีพตามแนวความคิดของ เรวัติ ชาตรีวิศิษฏ์
เรวัติ ชาตรีวิศิษฏ์ มีความคิดเกี่ยวกับ “นักบริหารมืออาชีพ” โดยเขียนไว้ในหนังสือ ”การบริหารองค์การยุคใหม่” ว่า “นักบริหารมืออาชีพ” จะต้องมีคุณสมบัติและทัศนคติพิเศษที่จำเป็นต่อการสนองประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมดังนี้
1.เป็นนักบุกเบิก (Pioneer) คือควรมีจิตใจชอบค้นหาสิ่งใหม่ๆ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เพื่อให้องค์การก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
2.มีวิสัยทัศน์ (Vision) คือจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินงานขององค์การให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน
3.มีความทันสมัย (Modern) คือเป็นผู้ก้าวทันโลก ทันเหตุการณ์ จะต้องพร้อมเสมอที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์
4.เป็นนักพัฒนา (Developer) คือควรคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวขององค์การ ให้ความสำคัญแก่การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) เพื่อปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
5.เป็นนักต่อสู้ (Determined Fighter) คือมีความพร้อมที่จะแข่งขันในระดับโลกกับนานาประเทศในทุกรูปแบบ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น
6.เป็นนักประสานงาน (Co-ordinator) คือจะต้องเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถประสานทุกฝ่ายเข้าหากันได้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
7.มีจรรยาบรรณจริยธรรม และคุณธรรม (Ethics) คือควรมีความรับผิดชอบในวิชาชีพและมีจริยธรรม คุณธรรม สำหรับใช้เป็นกรอบของแนวความคิดในทางปฏิบัติ ควรประพฤติและปฏิบัติให้ถูกต้องตามทำนองครองธรรม เพื่อสร้างศรัทธา โดยการเป็นผู้ยึดมั่นในธรรม ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เป็นต้น

คุณลักษณะที่ดีของผู้บริหาร จากประสบการณ์
ของศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ
ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญได้เขียนบทความเรื่อง “ภาวะผู้นำในสถานศึกษา” ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของตน โดยมีความเชื่อว่า คุณลักษณะที่ดีของผู้บริหาร ควรจะต้องประกอบด้วย
1.การเป็นผู้นำทางวิชาการ (Academic Leadership) คือเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ เป็นผู้สร้างสรรค์วิชาการมากกว่าเป็นผู้บริโภควิชาการ มีความสำนึกในวิชาการ เน้นการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างความรู้ แล้วนำความรู้ที่เกิดขึ้นไปสอน ไปบริการวิชาการแก่สังคม ต้องเป็นผู้นำและต้องปกครองดูแลนักวิชาการ เป็นต้น
2.วิสัยทัศน์และศักยภาพ (Vision and Patentiality) คือจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทั้งต่อเป้าหมายขององค์กร วิชาการ การบริหารวิชาการ และการบริหารองค์กร พร้อมกันนั้นก็ต้องมีศักยภาพสูงในการบริหารที่จะพัฒนาองค์กรให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดได้
3.จิตสำนึกสาธารณะ (Public Mind) คือการเสียสละเพื่อคนอื่น มีสัมพันธภาพกับบุคลากรในองค์กรและบุคคลในชุมชนด้วย
4.จิตสำนึกจริยธรรม (Ethic Mind) คือการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เปิดเผย โปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม กล้าตัดสินใจเพื่อรักษาความดีงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรมขององค์กรและบุคคล บริหารด้วยเหตุผลและความชอบธรรม
5.การมีแนวคิดในการบริหาร (Administration Concept) คือมีแนวคิดในการบริหารที่เด่นชัดในการพัฒนาองค์กร ต้องมีความคมชัดในการพัฒนาระบบ พัฒนาวิชาการ พัฒนาวิชาชีพ พัฒนาบุคคล พัฒนากระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาศักดิ์ศรีขององค์กร
6.การทำงานเป็นกลุ่ม (Team working) คือมีความสามารถในการเป็นผู้นำและการยอมรับนับถือ การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การร่วมกันปฏิบัติงานปฏิบัติกิจกรรมเป็นกลุ่ม เป็นต้น

คุณลักษณะของผู้บริหารระดับสูง ( CEO )
รองศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ เชาวลิต ได้กำหนดคุณลักษณะของผู้บริหารระดับสูง ( CEO ) ในทศวรรษที่ 21 ไว้ 6 ข้อ ดังนี้
1. มีวิสัยทัศน์ (vision) ในเป้าหมายความสำเร็จ คือมองไปข้างหน้า “มองกว้าง คิดลึก เห็นไกล ทันสมัย และเฉียบแหลม”
2.สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือสามารถบอกทุกคนในองค์การให้ทราบได้ว่า องค์การจะดำเนินการไปในทิศทางใด สามารถสื่อสารได้ทุกทิศทาง
3.มีความน่าเชื่อถือ คือมีบุคลิกภาพเป็นที่น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ ไม่โกหกหลอกลวง สร้างความเชื่อถือความศรัทธาแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและสาธารณชน
4.กล้าได้กล้าเสีย คือ กล้าเสี่ยง วางแผนแล้วต้องเดินหน้า อย่ากลัวผิด ผิดแล้วต้องรีบแก้ไข และอย่านั่งทับปัญหา เป็นต้น
5.คิดนอกกรอบ (Think Out of Box) คือคิดให้หลุดพ้นจากความเคยชินเดิมๆ และต้องคิดให้เกิดความเชื่อมโยงในกรอบของโลกาภิวัตน์ มีมิติใหม่ๆของความคิด
6.กล้าที่จะทำให้องค์กรมีความกระทัดรัด คล่องตัว

นักบริหารมืออาชีพในฐานะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง
วิฑูรย์ สิมะโชคดี ได้เขียนบทความเรื่อง “CEO คือ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” ใน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2546 โดยกล่าวว่า “ใครจะเป็นผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ดีเท่ากับ CEO (Chief Executive Officer) คงไม่มีอีกแล้ว เพราะ CEO คือ หัวหน้าคณะผู้บริหารระดับสูงหรือผู้บริหารสูงสุดของทุกองค์กร CEO จึงเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในทุกองค์กร”
วิฑูรย์ สิมะโชคดี ได้อ้างถึงนักวิชาการชื่อ จอห์น คอตเตอร์ (John Kotter) ของ Harvard Business School ได้กล่าวไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ภายในองค์กร จะต้องผ่าน ขั้นตอนต่างๆ ตามลำดับรวมแปดขั้นตอน คือถ้าเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็จะมีผลต่อความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรขั้นตอนของการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้ง 8 ขั้นตอน ตามลำดับนั้น ประกอบด้วย
1 การปลุกเร้าความรู้สึกในความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร
2 การสร้างทีมงานที่ดี
3 การสร้างวิสัยทัศน์ขององค์กร
4 การสื่อสารและถ่ายทอดวิสัยทัศน์
5 การกำจัดอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง
6 การวางแผนเพื่อให้เห็นผลสำเร็จในระยะสั้น
7 การหลีกเลี่ยงการประกาศชัยชนะที่เร็วเกินไป
8 การทำให้ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดำรงคงอยู่ตลอดไป
ขออธิบายขยายความ ขั้นตอนของการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้ง 8 ขั้นตอน ดังนี้
1 การปลุกเร้าความรู้สึกในความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร การเปลี่ยนแปลงใดๆ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับ ตลอดจนทุกคนในองค์กรด้วย ดังนั้นถ้าขาดปัจจัยจูงใจที่เหมาะสมที่จะทำให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันแล้ว ก็ย่อมยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆได้ ผู้บริหารจึงต้องมีความสามารถพูดอธิบายและสื่อสารปลุกเร้าถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น หรือที่ใกล้จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจที่จะสร้างความเจริญเติบโตแก่องค์กร
2 การสร้างทีมงานที่ดี ผู้บริหารเพียงคนเดียวคงไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นผู้บริหารจะต้องสร้างทีมงานที่มีความสามารถพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรได้ สมาชิกในทีมงานจะต้องเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะทำงาน คือ ไม่ใช่ประเภทที่พูดเก่งแต่เพียงอย่างเดียว
3 การสร้างวิสัยทัศน์ขององค์กร วิสัยทัศน์ หมายถึง ภาพในอนาคตขององค์กรที่ผู้บริหารอยากจะให้เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลง คือผู้บริหารต้องทำให้ทุกคนภายในองค์กรมองเห็นภาพเหมือนกันว่า องค์กรจะมีสภาพหรือหน้าตาเป็นอย่างไรในอนาคตภายหลังการเปลี่ยนแปลง วิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารและทีมงานร่วมกันกำหนดขึ้นมานี้ จะต้องสามารถถ่ายทอดและสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนด้วย
4 การสื่อสารและถ่ายทอดวิสัยทัศน์ หลังจากที่ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรอย่างชัดเจนแล้ว ผู้บริหารและทีมงานจะต้องทำหน้าที่ในการสื่อสารและถ่ายทอดวิสัยทัศน์นั้นไปยังผู้บริหารระดับต่างๆ และพนักงานทุกคนทั่วทั้งองค์กร ได้เข้าใจตรงกันว่า องค์กรจะมีลักษณะอย่างไรและทุกคนจะเป็นอย่างไรบ้างภายหลังการเปลี่ยนแปลง
การสื่อสารจะต้องก่อให้เกิดความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้องค์กรและทุกคนดีขึ้น ผู้บริหารยังจะต้องพยายามสื่อสารด้วยการแฝงวิสัยทัศน์ไว้ในทุกกิจกรรมที่ดำเนินการด้วย พร้อมทั้งการใช้ช่องทางในการสื่อสารทุกช่องทางที่มีภายในองค์กรให้เป็นประโยชน์สูงสุด
5 การกำจัดอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมักจะมีอุปสรรคเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นโครงสร้างขององค์กรที่ไม่เหมาะสม กฎระเบียบในองค์กรที่ล้าสมัย หรือระบบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้บริหารบางคนหรือบุคลากรบางกลุ่มที่ต่อต้านหรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการขาดระบบข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัยที่ช่วยให้สามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น ตลอดจนการขาดความมั่นใจในหมู่ผู้บริหารและพนักงานที่มีต่อผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง
ผู้บริหารจึงต้องพยายามที่จะลดหรือจำกัดอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ให้หมดไป เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีอิสระที่จะมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างเต็มที่
6 การวางแผนเพื่อให้เห็นผลสำเร็จในระยะสั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะทำให้เห็นผลหรือสำเร็จได้ภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า เรื่องใดก็ตามที่ทำติดต่อกันมาเป็นเวลานานโดยยังไม่เห็นผลลัพธ์ ย่อมจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหมดความกระตือรือร้น คือค่อยๆหมดไฟที่อยากจะทำต่อไป
ดังนั้นผู้บริหารจะต้องวางแผนเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดความสำเร็จในระยะสั้นด้วย โดยผลลัพธ์ของความสำเร็จนี้อาจจะเป็นเพียงความสำเร็จเป็นระยะๆ ในเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงก็ได้ เพื่อให้เกิดกำลังใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง และยังเป็นการรักษาระดับของความเร่งด่วนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย
ประเด็นที่สำคัญและต้องระวังก็คือ ในกรณีที่เห็นผลลัพธ์ช้า อาจทำให้ผู้ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนใจไปอยู่ฝ่ายที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงก็ได้
7 การหลีกเลี่ยงการประกาศชัยชนะที่เร็วเกินไป การวางแผนเพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จในระยะสั้น (จากขั้นตอนที่ 6) แม้จะเป็นวิธีการที่ดี แต่ถ้ามากเกินไปหรือหลงยินดีกับความสำเร็จเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจผิดและมัวแต่หลงปลื้มในชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ นั้น จนลืมนึกถึงความสำเร็จใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ผู้บริหารจึงไม่ควรประกาศชัยชนะของการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป มิฉะนั้นอาจจะทำให้ทุกคนเข้าใจผิดว่าหมดหน้าที่แล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงยังไม่จบสิ้น และมีเรื่องที่จะทำอีกมากมาย
8 การทำให้ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดำรงคงอยู่ตลอดไป วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะทำให้ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถดำรงคงอยู่กับองค์กรตลอดไป ก็คือ การทำให้ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนั้นกลายเป็น วัฒนธรรมองค์กร หรือกลายเป็นค่านิยมร่วม ซึ่งกลายเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริหารและพนักงานทุกคนภายในองค์กรยึดถือและประพฤติปฏิบัติจนเป็น วิถีการทำงาน
นักบริหารมืออาชีพ ควรมีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรด้วย ดังนั้นขั้นตอนของการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้ง 8 ขั้นตอนนี้ นักบริหารมืออาชีพควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง

Followers