คุณลักษณะอื่นๆของนักบริหารมืออาชีพ
นักบริหารมืออาชีพกับธรรมาภิบาล (Good Governance)
คำว่า ธรรมาภิบาล เริ่มนำมาใช้ในสังคมไทยเมื่อไม่นานนัก ถ้าดูความหมายของ ธรรมาภิบาล โดยแยกคำออกเป็น 2 คำ จะได้ดังนี้
ธรรมาภิบาล = ธรรมะ + อภิบาล
ธรรมะ หมายถึงความดี ความถูกต้อง ความประพฤติดีประพฤติชอบ
อภิบาล หมายถึงการปกครองบำรุงรักษา หรือ การบริหาร
ธรรมาภิบาล จึงน่าจะหมายถึงการบริหารอย่างเป็นธรรม การบริหารจัดการที่ดี หรือบริหารอย่างโปร่งใสสุจริตยุติธรรม
เดิมราชบัณฑิตยสถานจะบัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมาให้เรียกว่า “วิธีการปกครองที่ดี” แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าที่ควร คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้คำว่า “วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี”แต่ในวงวิชาการที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในเวลานี้คือ “ธรรมาภิบาล”ธรรมาภิบาล ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Good Governance ซึ่งถ้าดูคำแปลของสองคำนี้ จะพบว่า คำว่า “Good” แปลว่า “ดี” และคำว่า Governance แปลว่า “การกำกับที่ดี การดูแลอย่างดี”
ดังนั้น ธรรมาภิบาล หรือ Good Governance จึงน่าจะหมายถึงหลักคิดสำหรับการบริหารจัดการที่ดี เช่น ในองค์กรหรือในหน่วยราชการต่างๆไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง งานไม่ด้อยประสิทธิภาพในเรื่อง “ธรรมาภิบาล” นี้พบว่า การบริหารราชการแผ่นดินแนวใหม่ของไทยเรา มีความคิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องปฏิรูประบบราชการ คือมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ ทั้งในแง่ของวิธีการคิด ให้มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) และวิธีการทำงาน เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรสมัยใหม่ ทำงานเชิงรุกแบบบูรณาการ คล่องตัว รวดเร็ว มีขีดสมรรถนะและสร้างผลงานสูง เปิดเผยโปร่งใส ตรวจสอบได้ สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้อย่างเหมาะสมส่วนธรรมาภิบาลในสถานศึกษา เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่ามีการทุจริตกันพอสมควร ทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วย ดังนั้นนักบริหารมืออาชีพจะบริหารอย่างเป็นธรรมได้ จะต้องมี การสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นการสร้างสำนึกที่ดีในการบริหารงาน และการทำงานในองค์กร พร้อมกับการจัดระบบที่สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามสำนึกที่ดี

การสร้างสำนึกที่ดีในการบริหารงานและการทำงานในองค์กร ประมวลได้มี 4 เรื่องด้วยกัน คือ

1.สำนึกที่จะบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สิ้นเปลือง คือผลงานมีคุณภาพ สนองความต้องการ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายคุ้มค่า
2.สำนึกที่จะดูแลไม่ให้เกิดความเสียหายแก่องค์กร เช่น มีการติดตามดูแลความเสียหายจากการทุจริต มีการป้องกันความเสี่ยงในการปฏิบัติการทุกประเภท และมีการพิจารณาความเสี่ยงของนโยบายอย่างถ่องแท้ เป็นต้น
3.สำนึกที่จะบริหารงานอย่างโปร่งใส ชี้แจงได้ คือมีความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา
4.สำนึกที่จะบริหารงานด้วยความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่พนักงาน ครูอาจารย์ นักเรียน สังคม สิ่งแวดล้อม สถานศึกษา และประเทศชาติ

หลักแห่งธรรมาภิบาล
มีหลักที่สำคัญอยู่ 3 ข้อ คือ
1.เป้าหมายสอดคล้องต่อสังคม (Relevance)
2.กระบวนการโปร่งใส (Transparency)
3.ทุกขั้นตอนมีผู้รับผิดชอบ (Accountability)
ขออธิบายขยายความหลักแห่งธรรมาภิบาลทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1.เป้าหมายต้องสอดคล้องต่อความต้องการหรือความจำเป็นของสังคมหรือชุมชน (Relevance) หลักแห่งธรรมาภิบาล ต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เช่น ในชุมชนมีปัญหาเกี่ยวกับอบายมุข ยาเสพติด ก็ควรช่วยกันแก้ปัญหายาเสพติด ชักชวนให้คนในชุมชนเลิกดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น
2.กระบวนการโปร่งใส (Transparency) ต้องโปร่งใสทั้งการบริหารทั่วไป การเรียนการสอน และการใช้เงิน กระบวนการโปร่งใสก็คือ ให้คนเข้าไปตรวจสอบได้ และอธิบายถึงที่มาที่ไปได้ หรือมีความโปร่งใสเปิดเผยตามความเป็นจริง มีความโปร่งใสในข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น
3.ทุกขั้นตอนต้องมีผู้รับผิดชอบ (Accountability) หรือ ความสามารถที่จะถูกตรวจสอบได้ คือตระหนักถึง “ความรับผิดชอบ” ต่อผลของงานที่เกิดขึ้น หรือผู้บริหารอยู่ในสถานะที่จะถูกตรวจสอบจากผู้ร่วมงานได้ เช่นการใช้เงินของโรงเรียนต้องมีผู้รับผิดชอบ ใช้แล้วได้ประโยชน์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ใช้แล้วได้คุณภาพของงานเหมาะกับเงินที่จ่ายไป ถ้างานไม่มีคุณภาพผู้บริหารต้องรับผิดชอบ เป็นต้น
ความสามารถที่จะถูกตรวจสอบได้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Accountability ต่างจากคำว่า ความรับผิดชอบ ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Responsibility ผู้บริหารที่มี Responsibility ก็คือผู้บริหารที่ตระหนักถึง ความรับผิดชอบ ต่อผลของงานที่เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้บริหารเป็นผู้ที่มี Accountability หมายความว่าผู้บริหารอยู่ในสถานะที่จะถูกตรวจสอบจากผู้ร่วมงานได้ เพื่อยืนยันถึง ความโปร่งใส ของผู้บริหาร ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของการบริหารแบบธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการบางท่านมีความคิดอีกแนวหนึ่งว่า หลักแห่งธรรมาภิบาล ควรเพิ่ม หลักนิติธรรม (Rule of law) หมายถึงการใช้กฎหมายต่างๆอย่างเที่ยงตรงยุติธรรมสามารถบังคับใช้กฎหมายกับทุกคนได้เสมอกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ หลักความเสมอภาค (Equity) หมายถึงการได้รับการปันส่วนในประโยชน์ต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อจะได้ไม่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หลักการมีส่วนร่วม กล่าวคือประชาชนและบุคลากรในองค์จะต้องมีส่วนร่วมในการทำงานโดยมุ่งผลแห่งการประสบความสำเร็จร่วมกัน และ หลักคุณธรรม (Morality) กล่าวคือคนในองค์กรต้องมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และสำนึกในความดีงามที่จะทำงานโดยถูกต้องและสุจริต หลักความคุ้มค่า โดยต้องถือประโยชน์สูงสุดแห่งองค์กรเป็นที่ตั้งในการบริหารและขับเคลื่อนองค์กรไปให้สู่ความสำเร็จ และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและเกิดประโยชน์สูงสุด

การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ตามพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดขอบเขต แบบแผนและวิธีปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centered) ซึ่ง การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ก็คือ การปฏิบัติราชการเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักอย่างน้อย 7 ประการ ตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งประกอบด้วย
1.เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
2.เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3.มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4.ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5.มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
6.ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวก และได้รับการตอบสนองความต้องการ
7.มีการประเมินการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
พระราชกฤษฏีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นับเป็นก้าวสำคัญของการกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการสมัยใหม่อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยวางหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการให้มีความชัดเจน สามารถวัดผลได้ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดเอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้การบริหารราชการตอบสนองความต้องการและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

การจัดทำบรรษัทภิบาล (Good Corporate Governance)
สำหรับองค์กรธุรกิจ
ผู้บริหารองค์กรธุรกิจของไทยได้ให้ความสำคัญกับการมี ธรรมาภิบาล ซึ่งหลักการของธรรมาภิบาลภาคเอกชนหมายถึง การมีบรรษัทภิบาลที่ดี คือ มีการบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นธรรมและโปร่งใส โดยผู้มีอำนาจจัดการธุรกิจนั้นๆมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และผลการกระทำของตนต่อผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัททุกรายรวมถึงผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ พนักงาน รัฐ ลูกค้า ตลอดจนประชาชนทั่วไป
ธรรมาภิบาลภาคเอกชนที่ดี มีรากฐานตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ
1.ความรับผิดชอบ คือความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆด้วย เช่น รัฐ เจ้าหนี้ พนักงานและสังคม โดยผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ในขณะที่กรรมการในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้น จะเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร และความถูกต้องของระบบบัญชี
2.ความโปร่งใส คือความโปร่งใสในการบริหารธุรกิจ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจได้ว่า การดำเนินธุรกิจนั้นเป็นไปในแนวทางที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไรส่วนตัว
3.ความเสมอภาค คือผู้ถือหุ้นรายย่อยจะมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจเท่าเทียมกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งกรรมการ เปลี่ยนหรือปลดกรรมการ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสำคัญของธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในกฏหมายมหาชน และมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆของบริษัท

หลักธรรมาภิบาลที่ดี ตามความคิดของ
นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ประกอบด้วย
1.การแสดงความรับผิดชอบ โดยมีการแยกแยะกลุ่มบุคคลต่างๆชัดเจน เช่น ผู้ถือหุ้น ต้องเปิดเผยว่า เป็นใคร สัมพันธ์กันอย่างไร
2.คณะกรรมการบริษัทมีโครงสร้างที่เหมาะสม มีการถ่วงดุลของคณะกรรมการแต่ละคน มีกรรมการอิสระที่จะช่วยการตัดสินใจของคณะกรรมการที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท ขณะเดียวกันต้องมีผู้สอบบัญชีอิสระ ต้องมีผู้สอบบัญชีทั้งภายในและภายนอก
3.การเปิดเผยข้อมูลถูกต้องทันเวลา โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะมีคนสนใจมาก ต้องนำข้อมูลไปใช้ได้ไม่คลุมเครือ
4.การตรวจสอบภายใน ประกอบด้วยประเด็น 2 ประเด็น คือ
4.1 การตรวจสอบภายในเชิงป้องกัน เป็นการสร้างกลไกให้ผู้บริหารตัดสินใจได้ทันเวลา
4.2 การตรวจสอบโดยเน้นปฏิบัติตามระเบียบและกฏหมาย ตัวอย่างกรณีบริษัทจดทะเบียนไทยซึ่งนายจิรายุเป็นกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย แม้ว่าผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมาจะดีมาก แต่คณะกรรมการตรวจสอบยังต้องตรวจสอบการทำงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยต่อไป ซึ่งมีเรื่องต้องตรวจสอบถึง 172 เรื่อง ไม่ใช่เรื่องอำนาจของใคร แต่ถ้าไม่ตรวจสอบ ปัญหาเล็กก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินควรมีบทบาทเต็มที่ที่จะเข้ามาดูแลตั้งแต่เรื่องเล็กๆจนถึงเรื่องใหญ่ๆ

รางวัล “ธรรมาภิบาลดีเด่น” ของสถาบันป๋วย อื้งภากรณ์
ปี พ.ศ. 2549 เป็นปีที่ 4 ของการเฟ้นหาผู้ประกอบการขนาดย่อมเพื่อรับรางวัล“ธรรมาภิบาลดีเด่น” ของสถาบันป๋วย อื้งภากรณ์ สถาบันนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้เป็นตัวอย่างการทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมี “ธรรมาภิบาล”
กิจกรรมอันหนึ่งคือ ยกย่องธุรกิจขนาดย่อมที่มีธรรมาภิบาล โดยมองธรรมาภิบาลในลักษณะแบบไทย เข้ากับสังคมไทย คือ ธรรม หมายถึงดีชอบ ถูกต้องเป็นธรรม อภิบาล หมายถึงการกำกับดูแลบริหาร ฉะนั้น ธรรมาภิบาล คือธุรกิจที่มีการบริหารและกำกับอย่างถูกต้องและเป็นธรรม สำหรับบริษัทธุรกิจขนาดย่อมที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัล “ธรรมาภิบาลดีเด่น” จะต้องผ่านคุณสมบัติขั้นต้น คือ
๑.ต้องไม่เป็นธุรกิจที่เบี้ยวหนี้ โดยจะมีการส่งรายชื่อธุรกิจให้กับธนาคารพาณิชย์กลั่นกรองก่อน
๒.ส่งบัญชีถูกต้อง
๓.ต้องเสียภาษีถูกต้องครบถ้วน
๔.ต้องไม่มีคดีความเสียหาย
ส่วนหลักเกณฑ์การคัดเลือกจะใช้หลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.ปยุตโต) คือ
1. ธุรกิจต้องไม่เอาเปรียบลูกค้า
2. ไม่เอาเปรียบพนักงาน
3. ไม่เอาเปรียบสังคมและสิ่งแวดล้อม
4. ไม่เอาเปรียบตนเอง

นักบริหารมืออาชีพกับมนุษยสัมพันธ์
ในเรื่อง “คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักบริหารมืออาชีพจากทฤษฎีต่างๆ” จะพบว่าหลายทฤษฎีได้แบ่งผู้บริหารออกเป็น 2 ข้อใหญ่ คือ ผู้บริหารที่เน้นงาน กับ ผู้บริหารที่เน้นคน หรือ ผู้บริหารที่เก่งงาน กับ ผู้บริหารที่เก่งคน สำหรับผู้บริหารที่เน้นคน หรือ ผู้บริหารที่เก่งคน ก็คือผู้บริหารที่รู้จักมีสัมพันธภาพกับผู้ร่วมงาน รู้จักใช้คนให้เหมาะสมกับงาน เข้าใจผู้ร่วมงาน คือผู้บริหารมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานนั่นเอง เช่น ผู้บริหารที่ใช้บารมีทางบุคลามิติ ตามทฤษฎีของเกทเซลส์ กับ กูบา ผู้บริหารแบบคำนึงคน ตามทฤษฎีของของเบลค กับ มูตัน ผู้บริหารแบบใช้พระคุณตามทฤษฎีของ ดร.ชุบ กาญจนประกร ผู้บริหารแบบประชาธิปไตยตามทฤษฎีของเลวิน ลิพพิท และไวท์ เป็นต้น มนุษยสัมพันธ์ เป็นการสร้างและส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างผู้บริหารกับผู้ร่วมงาน ซึ่งนักบริหารมืออาชีพควรจะรู้จักเทคนิคในการสร้างมนุษยสัมพันธ์

เทคนิคการสร้างมนุษยสัมพันธ์ของนักบริหารมืออาชีพ
นักบริหารมืออาชีพมีวิธีสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานได้หลากหลาย ดังนี้
1.จูงใจให้ผู้ร่วมงานทำงานด้วยความขยันขันแข็ง จริงจังและจริงใจ
2.เข้าใจตนเอง ไม่หลงตนเอง ไม่ยกย่องตนเองมากเกินไป หากมีอะไรบกพร่องก็ต้องยอมรับและปรับปรุงพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
3.เข้าใจผู้ร่วมงานหรือบุคคลอื่น เนื่องจากบุคคลมีความแตกต่างกัน มีธรรมชาติของความต้องการแตกต่างกัน มีประวัติและประสบการณ์แตกต่างกัน แล้วพิจารณาดูว่าตนเองจะปรับตัวให้มีการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลนั้นๆได้อย่างไร
4.เข้าใจสภาพแวดล้อม คือการเรียนรู้ธรรมชาติของสภาพแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเองหรือบุคคลอื่น เช่น สังคม วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ซึ่งสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน และมีส่วนที่จะช่วยเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ได้ หากเรามีความรู้ความเข้าใจสภาพแวดล้อมของบุคคลนั้นๆ
5.สร้างความรู้สึกและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานให้เกิดขึ้น เช่นความเป็นกันเอง ความสะดวกสบายและอื่นๆ
6.ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกับผู้ร่วมงาน ด้วยการเข้าใจเขาเข้าใจเรา หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง
7.เสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อการทำงานของผู้ร่วมงาน
8.รู้จักพูดจา ทักทายผู้ร่วมงาน โดยใช้คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน
9.ยิ้มแย้มแจ่มใสด้วยความจริงใจกับผู้ร่วมงาน เพราะการยิ้มเป็นเครื่องแสดงไมตรี และในขณะที่เรายิ้มนั้น เราใช้กล้ามเนื้อเพียง 17 ชิ้น แต่เวลาเราทำหน้านิ่วคิ้วขมวด เราต้องใช้กล้ามเนื้อถึง 43 ชิ้น ดังนั้นจึงควรยิ้มเข้าไว้
10.พูดจาสุภาพ เหมาะสมกับเรื่อง บุคคล เวลา และสถานที่
11.รู้จักทั้งการเป็นผู้ให้และผู้รับ และมิใช่ให้รางวัลสิ่งของเงินทองเท่านั้น จะรวมทั้งให้ความเป็นกันเอง ให้ความสนใจ ให้ความเมตตากรุณาและอื่นๆ
12.รู้จักยกย่องชมเชยผู้ร่วมงาน
13.เป็นผู้ฟังที่ดีและรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานอย่างมีเหตุผล นำเอาความคิดเห็นของผู้ร่วมงานมาประกอบการพิจารณาดำเนินงานต่อไป
14.เห็นอกเห็นใจผู้ร่วมงาน
15.ยอมรับความสามารถของผู้ร่วมงาน
16.จำชื่อผู้ร่วมงานและเรียกชื่อหรือทักทายให้ถูกต้อง เขาจะเกิดความภูมิใจและพอใจ
17.แสดงความเป็นกันเองและให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ร่วมงานทุกคน
18.พูดและปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานด้วยความจริงใจทั้งสีหน้าและท่าทางโดยมิได้แสร้งทำ
19.ให้ความเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ พยายามยกย่องมากกว่าที่จะติผู้ร่วมงาน ระมัดระวังในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ร่วมงาน มีไมตรีจิตและช่วยเหลือผู้ร่วมงาน
20.พร้อมที่จะให้บริการแก่ผู้ร่วมงานอยู่เสมอ มิใช่รอให้ผู้ร่วมงานมาบริการ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับทุกคน

การพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ใฝ่รู้ มีวิสัยทัศน์
ของนักบริหารมืออาชีพ
นักบริหารมืออาชีพหรือผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางปฏิรูปการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะดำเนินการได้ดังนี้
1.ต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในด้านต่างๆ ดังนี้
1.1 ด้านความรู้ความเข้าใจ เช่น บทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาผู้บริหารและครู หลักสูตร หลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การวัดการประเมินผล
1.2 ด้านทักษะ เช่น ทักษะทางมนุษยสัมพันธ์ ทักษะทางเทคนิค ทักษะทางคตินิยม ทักษะในการใช้สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้
2.สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เช่น ช่วยแก้ปัญหาของชุมชน นำนักเรียนไปศึกษาหาข้อมูลรวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน เชิญบุคคลในชุมชนมาช่วยสอนในโรงเรียน ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโรงเรียนให้ชุมชนทราบ เป็นต้น
3.จัดระบบข้อมูลและรวบรวมข้อมูลของชุมชนและท้องถิ่น เช่น องค์กรต่างๆในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน
4.ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของโรงเรียน เช่น อาคารสถานที่ ห้องต่างๆ บริเวณโรงเรียน
5.ปรับปรุงระบบการบริหาร เช่น การบริหารวิชาการ การบริหาร
งานธุรการ การบริหารงานบุคคล การบริหารกิจการนักเรียน และการบริหารงานด้านความสัมพันธ์กับชุมชน
6.ระดมทรัพยากรในชุมชนมาร่วมจัดการศึกษา เช่น สถานประกอบการ บุคคลในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น
7.เตรียมความพร้อมในการจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้ชุมชนเชื่อมั่นว่าสถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนได้บรรลุจุดประสงค์
นอกจากนี้ สุภาส เครือเนตร ได้ให้ แนวคิดในการพัฒนาตนเอง ไว้ในหนังสือ “แนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต” ว่าควรคำนึงถึงคุณสมบัติพื้นฐาน 7 ประการ คือ

1. สร้างจิตใจให้หนักแน่นมั่นคง เช่นการทำสมาธิ จะทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน มีคุณธรรม ประพฤติดี มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีความคิดดี เสมือนได้ชาร์ตแบตเตอรี่ ได้พักผ่อนทั้งกายและใจ หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
2. สร้างนิสัยขยันหมั่นเพียร ด้วยการระลึกและฝึกปฏิบัติบ่อยๆ
3. สร้างนิสัยรับผิดชอบ ด้วยการระลึกและปฏิบัติบ่อยๆ
4. สร้างนิสัยกตัญญูอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยการระลึกและฝึกปฏิบัติบ่อยๆ
5. สร้างนิสัยรู้จักประมาณตน ด้วยการระลึกและฝึกปฏิบัติบ่อยๆ
6. สร้างนิสัยให้มีระเบียบวินัยและซื่อสัตย์ ด้วยการระลึกและฝึกปฏิบัติบ่อยๆ
1. สร้างคุณธรรมให้แก่ตนเอง ด้วยการระลึกและฝึกพิจารณาเหตุผลบ่อยๆ
ความต้องการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้บริหารมืออาชีพ
จากงานวิจัยของ ถวัลย์ หงษ์ไทย เรื่อง “การศึกษาสภาพและความต้องการพัฒนาความเป็นผู้บริหารมืออาชีพของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิ” พบว่า ผู้บริหารมีความต้องการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้บริหารมืออาชีพอยู่ในระดับมาก สำหรับประเด็นที่ผู้บริหารมีความต้องการพัฒนามากที่สุดมีอยู่ 6 ประเด็น ด้วยกัน คือ
1.ความต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความรู้เรื่องความรับผิดชอบต่อการพัฒนาโรงเรียนในระยะสั้นและระยะยาว
2.ความต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีวิสัยทัศน์ สามารถสื่อสารวิสัยทัศน์ และนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล
3.ความต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการวางแผน แผนกลยุทธ์ การกำกับ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผน
4.ความต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในเชิงผู้นำ เช่น การกำหนดวิสัยทัศน์ การบริหารเชิงกลยุทธ์ การใช้เทคนิคการบริหารสมัยใหม่และการบริหารคน
5.ความต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
6.ความต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารงาน

นักบริหารมืออาชีพกับการแก้ปัญหา
ทั้งในสถานศึกษาและองค์กรต่างๆย่อมมีปัญหาในการดำเนินงานมากมาย นักบริหารจึงควรปรับเปลี่ยนปัญหา ให้กลายเป็นโอกาส หรือปรับเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส โดยคิดแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ เพื่อนำไปปฏิบัติ
ขั้นตอนในการแก้ปัญหาของนักบริหาร หรือ วิธีการแก้ปัญหา (Problem Solving Method) จะใช้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Science Method) หรือ วิธีแก้ปัญหาตามขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจ มาใช้ในการแก้ปัญหาก็ได้ จะได้กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาทั้งสองวิธีดังต่อไปดังนี้

วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Science Method)
มีวิธีการอยู่ 5 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
1.การเลือกปัญหาหรือกำหนดปัญหา โดยเลือกปัญหาที่น่าสนใจ น่าจะแก้ปัญหา เช่น ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน
2.การวิเคราะห์ปัญหา ทำการนิยามปัญหาให้ชัดเจน หรือสร้างสมมติฐานในปัญหาที่กำลังศึกษาให้ดีขึ้น จะเก็บข้อมูลอะไรและอย่างไร เช่น วิเคราะห์ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน อาจจะเป็นเพราะนักเรียนยากจนไม่ได้ทานข้าวเช้ามาจากบ้าน ดังนั้นการเก็บข้อมูลอาจจะสัมภาษณ์นักเรียน สอบถามผู้ปกครอง สังเกตพฤติกรรมนักเรียน เป็นต้น
3.การค้นหาสาเหตุของปัญหา ด้วยการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง การสังเกต การสัมภาษณ์ สอบถามผู้ปกครองอาจจะได้สาเหตุคือผู้ปกครองยากจนจริงต้องหาเช้ากินค่ำ นักเรียนไม่ได้กินข้าวเช้าก่อนไปโรงเรียน เพราะผู้ปกครองต้องออกจากบ้านแต่เช้า
4.การคิดแก้ปัญหาตามสาเหตุ หรือวิเคราะห์ โดยตีความหมายของสาเหตุ ของปัญหามาวิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหา เช่น แก้ปัญหาโดยทางโรงเรียนคิดทำโครงการจัดอาหารเช้าให้นักเรียนที่ไม่ได้กินข้าวเช้ามาจากบ้าน เป็นต้น
5.การเขียนรายงานเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ โดยเขียนรายงานให้ชัดเจนเข้าใจง่าย เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติได้ คือ เขียนโครงการจัดอาหารเช้าให้นักเรียนที่ไม่ได้กินข้าวเช้ามาจากบ้าน และดำเนินการตามโครงการนี้
ขอยกตัวอย่าง ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน มาแก้ปัญหาโดยใช้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Science Method) มาใช้ในการแก้ปัญหาพอสังเขป ดังนี้
1.การเลือกปัญหาหรือกำหนดปัญหา โดยเลือกปัญหาที่น่าจะแก้ปัญหา คือ ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน
2.การวิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน อาจจะเป็นเพราะนักเรียนยากจนไม่ได้ทานข้าวเช้ามาจากบ้าน ทำให้หิวจึงไม่สนใจเรียน ดังนั้นการเก็บข้อมูลอาจจะสัมภาษณ์นักเรียน สอบถามผู้ปกครอง สังเกตพฤติกรรมนักเรียน
3.การค้นหาสาเหตุของปัญหา โดยสอบถามผู้ปกครองทำให้ทราบสาเหตุคือ ผู้ปกครองยากจนจริงต้องหาเช้ากินค่ำ นักเรียนไม่ได้กินข้าวเช้าก่อนไปโรงเรียน เพราะผู้ปกครองต้องออกจากบ้านแต่เช้า สัมภาษณ์นักเรียนนักเรียนก็บอกว่าไม่ได้กินข้าวเช้าจริง
4.การคิดแก้ปัญหาตามสาเหตุ หรือวิเคราะห์ แก้ปัญหาโดยทางโรงเรียนคิด ทำโครงการจัดอาหารเช้าให้นักเรียนที่ไม่ได้กินข้าวเช้ามาจากบ้าน
5.การเขียนรายงานเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ เขียนโครงการจัดอาหารเช้าให้นักเรียน ที่ไม่ได้กินข้าวเช้ามาจากบ้าน และดำเนินการตามโครงการนี้ทันทีนี่เป็นตัวอย่างการใช้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Science Method) มาใช้ในการแก้ปัญหา

วิธีการแก้ปัญหาตามขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจ
ซึ่งมี 4 ขั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
1.ทุกข์ (หรือขั้นทุกข์) เป็นขั้นกำหนดปัญหา ศึกษาปัญหา กำหนดขอบเขตของปัญหาที่เราจะแก้
2.สมุทัย (หรือขั้นสมุทัย) เป็นขั้นตั้งสมมติฐาน พิจารณาสาเหตุของปัญหา จะต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุของปัญหา หรือที่ต้นตอของปัญหา ดังนั้นพยายามกำหนดว่า อาจจะกระทำอะไรได้บ้างหลายๆอย่าง เพื่อแก้ปัญหาที่ตรงสาเหตุ
3.นิโรธ (หรือขั้นนิโรธ) เป็นขั้นการทดลองและเก็บข้อมูล โดยทดลองใช้วิธีการต่างๆแก้ปัญหาตามสาเหตุของปัญหา ทดลองได้ผลประการใด ก็บันทึกไว้เรียกว่าข้อมูล
4.มรรค (หรือขั้นมรรค) เป็นขั้นวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล โดยวิเคราะห์ข้อมูลหรือเปรียบเทียบข้อมูลวิธีแก้ปัญหาในข้อ 3 จนเห็นว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาที่กำหนดในข้อ 1 นั้นได้ แล้วสรุปการกระทำที่ได้ผลไว้เป็นแนวทาง (มรรค) เพื่อปฏิบัติอย่างเต็มที่ตามแนวทางนั้น
ขอยกตัวอย่าง ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน มาแก้ปัญหาโดยใช้ วิธีการแก้ปัญหาตามขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจ ซึ่งมี 4 ขั้น ดังนี้
1.ทุกข์ (หรือขั้นทุกข์) เป็นขั้นกำหนดปัญหา คือ ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน
2.สมุทัย (หรือขั้นสมุทัย) พิจารณาสาเหตุของปัญหาแล้วพบว่า เป็นเพราะนักเรียนยากจนไม่ได้ทานข้าวเช้ามาจากบ้าน ทำให้หิวจึงไม่สนใจเรียน ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุของปัญหา คือแก้ที่นักเรียนยากจนไม่ได้ทานข้าวเช้ามาจากบ้าน
3.นิโรธ (หรือขั้นนิโรธ) ซึ่งเป็นขั้นการทดลองและเก็บข้อมูล โดยทดลองใช้วิธีการต่างๆแก้ปัญหาตามสาเหตุของปัญหา คือทดลองให้นักเรียนกินข้าวเช้าก่อนเข้าเรียน
4.มรรค (หรือขั้นมรรค) ซึ่งเป็นขั้นวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล คือ เมื่อให้นักเรียนกินข้าวเช้าจนอิ่มและหายหิวแล้ว นักเรียนจะสดชื่น สนใจเรียนขึ้นไหม ถ้าสนใจเรียนมากขึ้น ก็สรุปผลแล้วทำโครงการจัดอาหารเช้าให้นักเรียนที่ไม่ได้กินข้าวเช้ามาจากบ้าน และดำเนินการโครงการนี้ทันที
วิธีการแก้ปัญหา (Problem Solving Method) โดยใช้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Science Method) ในการแก้ปัญหา หรือใช้ วิธีการแก้ปัญหาตามขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจ ในการแก้ปัญหานี้ จะนำไปใช้ในการวิจัยในชั้นเรียนได้ด้วย เพราะปัจจุบันนี้การเรียนการสอนในชั้นเรียนมีปัญหามากมาย

นักบริหารมืออาชีพกับการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจ เป็นกระบวนการที่ใช้เหตุผลในการพิจารณา วิเคราะห์ และหาทางเลือกเพื่อนำไปสู่ขั้นของการปฏิบัติ การตัดสินใจจึงต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการอย่างรอบคอบ เพื่อประสิทธิภาพของการบริหารองค์กร
การตัดสินใจ เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของกระบวนการบริหาร นักบริหารมืออาชีพจึงจำเป็นต้องตัดสินใจอยู่เสมอ และจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ นักบริหารที่ตัดสินใจไม่ได้หรือขาดทักษะในการตัดสินใจ ย่อมทำให้หน่วยงานเจริญได้ยาก ดังนั้นนักบริหารมืออาชีพจะต้องมีความสามารถในการตัดสินใจและจะต้องเป็นนักปฏิบัติที่มีพื้นฐาน การวิเคราะห์และตัดสินใจที่เป็นนักวางแผนอยู่ในตัวด้วย
การตัดสินใจ ได้นำไปใช้ในการบริหารสถานศึกษาแบบ School-Based Management (SBM) เนื่องจากมีการถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจจากรัฐหรือเขตพื้นที่การศึกษาไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ การบริหารสถานศึกษาแบบ SBM จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการศึกษามากขึ้น ด้วยการให้เขาเหล่านั้นรับผิดชอบในการตัดสินใจในเรื่องงบประมาณ บุคลากรและหลักสูตร นอกจากการมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องหลักดังกล่าวของครู ผู้ปกครอง และสมาชิกในชุมชนแล้ว SBM ยังเพิ่มประสิทธิภาพของบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วย จึงเห็นได้ว่า การตัดสินใจ ได้นำไปใช้ในการบริหารสถานศึกษาแบบ School-Based Management (SBM) เป็นอย่างมากทีเดียว

การตัดสินใจที่นำไปใช้ในการบริหารสถานศึกษาแบบ SBM
ให้ประโยชน์ ดังนี้
1. เปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถในสถานศึกษามีส่วนร่วมตัดสินใจ เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน
2. ให้ชุมชนมีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจที่สำคัญ
3. ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเพื่อการตัดสินใจ
4. นำไปสู่การคิดสร้างสรรค์ที่กว้างขวางในการออกแบบงาน/โครงการ
5.ปรับวิธีการจัดสรรทรัพยากร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาของแต่ละสถานศึกษา
6.นำไปสู่การจัดสรรงบประมาณที่แท้จริง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและครูได้มีความตระหนักในสถานภาพทางการเงินของสถานศึกษา การจำกัดการใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในโครงการต่าง ๆ
7.เพิ่มขวัญกำลังใจให้ครูและอบรมปลูกฝังการเป็นผู้นำใหม่ในทุกระดับ

กระบวนการบริหารกับการตัดสินใจ
ใน ทฤษฎีกระบวนการบริหาร ที่นักบริหารนำไปใช้ในการบริหารงานนั้นมี บางทฤษฎีที่เริ่มจาก การตัดสินใจ (Decision – making) เช่น
ทฤษฎีของเกรก (Gregg) ได้แบ่งกระบวนการบริหารออกเป็น 7 ประการด้วยกัน คือ
1.Decision – making (การตัดสินใจ)
2.Planning (การวางแผน)
3.Oganizing (การจัดหน่วยงาน)
4.Communicating (การติดต่อสื่อสาร)
5.Influencing (การใช้อิทธิพล)
6.Coordinating (การประสานงาน)
7.Evaluating (การประเมินผลงาน)
ทฤษฎีของแคมพ์เบลล์ (Campbell) ได้แบ่งกระบวนการบริหารออกเป็น 5 ประการด้วยกัน คือ
1.Decision – making (การตัดสินใจ)
2.Programing (การวางแผน)
3.Stimulating (การเสริมกำลังบำรุง)
4.Coordinating (การประสานงาน)
5.Appraising (การรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน)
แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีทั้งสองนี้ให้ความสำคัญกับ การตัดสินใจ คือในการบริหารงานของนักบริหาร จะต้องเริ่มจาก การตัดสินใจ ก่อน จึงจะมี การวางแผน แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับ การตัดสินใจ

แบบของการตัดสินใจ
1.การตัดสินใจโดยบัญชาหรือคำสั่งของผู้มีอำนาจเหนือกว่า เป็นการตัดสินใจตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชานั่นเอง ซึ่งผู้บริหารมักจะหลีกเลี่ยงยาก ทำให้การตัดสินใจจะลำบากถ้าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้
2.การตัดสินใจโดยผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอขึ้นมา อาจเป็นเพราะผู้บริหารหย่อนสมรรถภาพ หรือไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ
3.การตัดสินใจที่เกิดจากความคิดริเริ่มของผู้บริหารเอง เป็นการ-
ตัดสินใจที่ผู้บริหารคิดริเริ่มขึ้นมาเอง โดยกล้าคิดกล้าตัดสินใจทำสิ่งที่แปลกใหม่

แบบการตัดสินใจตามทฤษฏีการตัดสินใจตามสถานการณ์
ของ วรุมและเยตตอน
มี 5 แบบ คือ
1.ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลของตนเอง
2. ตัดสินใจโดยได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้บังคับบัญชา
3.ปรึกษากับผู้บังคับบัญชาเป็นรายบุคคลแล้วตัดสินใจเอง
4.ปรึกษากับผู้บังคับบัญชาเป็นกลุ่มแล้วตัดสินใจ
5.ร่วมกันปรึกษากับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นกลุ่มแล้วร่วมกันตัดสินใจ

กระบวนการในการตัดสินใจ
มีทฤษฎีกระบวนการตัดสินใจอยู่หลายทฤษฎี แต่ละทฤษฎีได้แบ่งขั้นตอนไว้ ทั้งที่แตกต่างกันและคล้ายกัน ดังนี้
แบบ 3 ขั้นตอน (วิธีคิดตัดสินใจแบบพุทธ)
ในยามที่เราจะต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่าเพิ่งผลีผลามด่วนคิดตัดสินใจไปตามความชอบใจ หรือความไม่ชอบใจของตนเอง เพราะมีโอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาดได้มาก ชาวพุทธที่มีจิตสำนึกฝึกตน ควรฝึกฝนกระบวนการคิด 3 ขั้นตอน อันเป็นกระบวนการคิดที่จะทำให้เราได้การตัดสินใจที่ดีที่สุด เท่าที่สติปัญญาของแต่ละคนจะสามารถทำได้ ดังมีขั้นตอนต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนที่จะคิดตัดสินใจกระทำอะไรลงไป ให้คิดถึงข้อดี ในสิ่งที่ต้องการจะกระทำนั้นว่ามันมีข้อดีอะไรบ้าง แจกแจงออกมาให้หมด
ขั้นตอนที่ 2 จากนั้นให้คิดถึงแง่เสีย ข้อด้อย ข้อบกพร่องของมันว่าน่าจะมีอะไรบ้าง แจกแจงออกมาให้หมดเช่นเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 3 คิดหาวิธีทางออก ทางเลือกใหม่ ๆ วิธีการที่เหมาะสม ที่ได้รับผลดีมากที่สุด โดยที่ได้รับผลเสียน้อยที่สุด
แบบ 4 ขั้นตอน
1.การกำหนดปัญหา เช่น กำหนดปัญหาครูไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน คือยังสอนแบบยึดครูเป็นศูนย์กลางมากกว่าสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
2.การพัฒนาทางเลือก คือ การพิจารณาว่าทางเลือกใดบ้างที่จะนำไปแก้ปัญหาได้ เช่น ทางเลือกที่หนึ่งคือจัดอบรมครูเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ทางเลือกที่สองพาครูไปศึกษาดูงานในโรงเรียนที่สอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
3.การวิเคราะห์ทางเลือก คือ การพิจารณาจุดเด่นจุดด้อยต่างๆของทางเลือก แต่ละทางเลือก โดยวิเคราะห์ทางเลือกที่หนึ่ง มีจุดเด่นคือ จัดได้ง่ายในโรงเรียนโดยเชิญวิทยากรมาให้การอบรม จุดด้อยคือ ครูไม่เห็นการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่เป็นรูปธรรม ส่วนทางเลือกที่สอง มีจุดเด่นคือ ครูได้เห็นการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่เป็นรูปธรรม จุดด้อยคือต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการพาครูไปศึกษาดูงาน
4.การคัดเลือกทางเลือกและปฏิบัติตามทางเลือก คัดเลือกทางเลือก-
ที่สองโดยพาครูไปศึกษาดูงานในโรงเรียนที่สอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
แบบ 5 ขั้นตอน
1.การศึกษาปัญหาและความต้องการ
2.การศึกษาทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา
3.การเลือกทางเลือก
4.การปฏิบัติและสนับสนุนตามทางเลือก
5.การประเมินผล

แบบ 6 ขั้นตอน
1.ศึกษาดูปัญหาคืออะไร และวางขอบเขตของปัญหานั้นๆ
2.วิเคราะห์และประเมินปัญหานั้นๆ
3.สร้างเกณฑ์และมาตรฐานเพื่อประเมินผลทางเลือกหรือการตัดสินใจ
4.รวบรวมข้อมูล
5.หาทางเลือกหรือวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
6.ลงมือปฏิบัติตามทางเลือกที่ดีกว่า โดยวางโปรแกรมการแก้ปัญหา ควบคุมกิจกรรมในโปรแกรม ประเมินผลที่ได้และกระบวนการที่ทำไป

แบบ 7 ขั้นตอน
1.รับรู้ปัญหา หรือเลือกปัญหาที่สำคัญเร่งด่วนที่จะตัดสินใจ
2.วิเคราะห์และประเมินผลปัญหา
3.ตั้งเกณฑ์หรือมาตรฐานสำหรับเลือกวิธีแก้ปัญหา
4.รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหา
5.กำหนดทางปฏิบัติในการแก้ปัญหา
6.ประเมินผลหรือลำดับความสำคัญ หรือจัดลำดับวิธีการแก้ปัญหาในแต่ละวิธีว่าใช้แล้วจะเกิดผลอย่างไร
7.เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในการตัดสินใจ
ดังนั้นนักบริหารจะเลือกแบบไหนไปใช้ก็ได้ ตามแต่สถานการณ์

Followers