ทำความเข้าใจกับคำว่า “นักบริหารมืออาชีพ” กันต่อไป

ถ้าจะแยกคำว่า นักบริหารมืออาชีพ ออกเป็น “นักบริหาร” คำหนึ่ง กับ “มืออาชีพ” อีกคำหนึ่ง จะได้ความหมายของคำทั้งสอง โดยเริ่มจากความหมายของ นักบริหาร ก่อน ดังนี้
1.นักบริหาร คือผู้ที่ดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ในหน่วยงานหรือองค์กร จำต้องมี “นักบริหาร” หรือบางแห่งเรียกว่า “ผู้บริหาร”
2.นักบริหาร คือคนที่ทำงานร่วมกับคนอื่น ความสำเร็จของเรา อยู่ที่การทำงานร่วมกับคนอื่น หรือเราเป็น Input การบริหารเป็น Process ความสำเร็จ (Output) ของการบริหาร ต้องผ่านการกระทำของบุคคลอื่น จึงต้องมีเพื่อนร่วมงาน
3.นักบริหาร คือบุคคลผู้เป็นหัวหน้าหรือผู้นำในหน่วยงานนั้นๆ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ ภายในหน่วยงาน
4.นักบริหาร คือผู้ที่ทำให้หน่วยงานได้รับความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยตนเองไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานนั้นโดยตรง แต่อาศัยความร่วมมือให้ผู้อื่นเป็นผู้ปฏิบัติแทน
ส่วนความหมายของ “มืออาชีพ” นั้น มีผู้ให้ความหมายและคำอธิบายไว้ดังนี้
1.มืออาชีพ หมายถึง การทำงานด้วยความรู้ความสามารถ ความตั้งใจจริงและทำงานให้เกิดผลงานดีที่สุด
2.มืออาชีพ หมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆเป็นอย่างมาก จนกระทั่งสามารถนำเอาความรู้ความชำนาญ ที่มีอยู่นั้นไปประกอบอาชีพได้อย่างดี และถึงแม้ว่าไม่ได้นำเอาความรู้ ความชำนาญ และความสามารถ ไปใช้ประกอบอาชีพ ถ้าเก่งถึงขั้น ก็เรียกว่า มืออาชีพ ด้วย สำนวนนี้เป็นสำนวนใหม่ เพิ่งเกิดเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ เป็นสำนวนที่ใช้ครั้งแรกๆในทางธุรกิจ เช่น นักขายมืออาชีพ นักบริหารมืออาชีพ ช่างไม้มืออาชีพ นักแข่งรถมืออาชีพ เป็นต้น
3.มืออาชีพ หมายถึงผู้ที่มีความสามารถและประสบการณ์สูงในงานที่ทำ ทำงานทุกครั้งจะทำได้บรรลุเป้าหมาย โอกาสที่จะล้มเหลวผิดพลาดแทบจะไม่มี ผู้บริหารสามารถไว้วางใจได้เมื่อมอบหมายงานให้ทำ คำนี้ตรงกันข้ามกับ “มือสมัครเล่น” “ผู้ฝึกงาน” ซึ่งเป็นผู้เข้ามารับงานไม่นาน ยังขาดทักษะประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งจะต้องมีหัวหน้าคอยแนะนำแก้ไขปรับปรุงอยู่ด้วย เพราะไม่สามารถทำงานคนเดียวได้
4.มืออาชีพ (Professional) เป็นคำที่เราไปยืมมาจากวงการกีฬา ในวงการกีฬา มีอยู่ 2 คำคือ มืออาชีพ และ มือสมัครเล่น ซึ่งแยกความแตกต่างกันได้ชัดเจน หากเมื่อไหร่เป็นมืออาชีพ แปลว่าคนคนนั้นต้องดำรงชีวิตด้วยกีฬาประเภทนั้น เช่นนักฟุตบอลอาชีพ นักมวยอาชีพ ในการเป็นมืออาชีพนั้นมีเงื่อนไขมากมายที่ต้องปฏิบัติตาม
เมื่อนำคำว่า “นักบริหาร” มารวมกับ “มืออาชีพ” จะได้คำว่า “นักบริหารมืออาชีพ” ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้ ทั้งที่แตกต่างกันและคล้ายคลึงกัน ดังนี้
1.นักบริหารมืออาชีพ หมายถึงผู้บริหารที่พยายามทำให้องค์การประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย หรือนโยบายขององค์การ ด้วยเหตุผลและหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับ โดยประยุกต์ทฤษฎีหรือแนวทางต่างๆ อย่างผสมกลมกลืนกันแล้วนำไปสู่ปฏิบัติ
2.นักบริหารมืออาชีพ หมายถึงบุคคลที่เป็นมืออาชีพในการบริหารจริงๆ เช่น มีประวัติผลงานการบริหารมาอย่างโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนได้รับการยอมรับทั้งระดับหน่วยงาน ระดับจังหวัด หรือแม้กระทั่งระดับชาติ
3.นักบริหารมืออาชีพ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานกิจการต่างๆให้สำเร็จ โดยอาศัยความรู้ความสามารถของตนเองและความร่วมมือของผู้อื่น
4.นักบริหารมืออาชีพ หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “มือโปร” มาจากภาษาอังกฤษว่า Professional Manager นั้น มีคุณสมบัติหลักๆ คือ มีการศึกษาดี มีประสบการณ์กว้างจากงานหลายด้าน และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้อย่างชาญฉลาด โดยกระทำอย่างเป็นระบบ มีลำดับขั้นตอนเป็นระเบียบและมีแบบแผน คุณสมบัติดังกล่าวนี้ จะได้มาก็โดยการฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนามาอย่างเป็นระบบ และใช้เวลายาวนานทีเดียว และที่สำคัญคือ จะต้องมีการผ่านประสบการณ์จากการปฏิบัติมามากพอสมควรด้วย
5.นักบริหารมืออาชีพ หมายถึงชื่อเรียกสำหรับบุคคลที่เป็นผู้บริหารที่เป็น “ลูกจ้างร้อยเปอร์เซ็นต์” ของกิจการที่เป็นบริษัทมหาชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ผู้บริหารระดับสูง

หรือ นักบริหารระดับสูง (Chief Executive Officers)
ปัจจุบันนี้ในวงการบริหารธุรกิจมักจะเรียกผู้บริหารหรือนักบริหารในอีกชื่อหนึ่งว่า “ผู้บริหารระดับสูง” หรือ “นักบริหารระดับสูง” ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า “CEO” จึงควรที่จะมาทำเข้าใจกับ “CEO” ว่ามีที่มาและมีความหมายว่าอย่างไร
CEO มาจากคำเต็มว่า “Chief Executive Officers” ที่มาของคำนี้พบว่า ดร.เฮอตัน (Dr.Thomas R. Horton) ซึ่งทำงานให้ IBM อยู่ 18 ปี แล้วมาเป็นผู้บริหารระดับสูง (CEO) ของสมาคมจัดการแห่งอเมริกา (AMA) เมื่อ ค.ศ. 1982-1992 และเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยสเตทสัน ดร.เฮอตันได้ให้ความหมายของคำว่า “ผู้บริหารระดับสูง” ขององค์การ (CEO) ไว้ในหนังสือ The CEO Paradox ANACOM 1994 ว่า
ผู้บริหารระดับสูง (Chief Executive Officers) คือผู้นำในการทำงาน และงานของเขาเป็นภาระกิจเฉพาะที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ ดูแลการทำงานโดยรวมของกิจการในด้านการวางแผน กำหนดวาระการดำเนินการ กับต้องมีทักษะพิเศษของภาวะผู้นำที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ในด้านการมอบหมายงาน การสร้างทีมงาน การวินิจฉัยสั่งการ การจัดการด้านวัฒนธรรมขององค์การ
และมีผู้ให้ความหมายคำว่า นักบริหารระดับสูง ( Chief Executive Officers = CEO ) ไว้อีกว่า คือ คณะผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบ ในการบริหารองค์การโดยรวม ให้สามารถดำเนินงานไปได้ดี ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในอนาคตข้างหน้า
จึงกล่าวได้ว่าผู้บริหารระดับสูงขององค์การนั้น มีหน้าที่หรือบทบาทที่เปรียบเสมือนกัปตันเรือที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเดินทาง เป้าหมาย และเส้นทางการเดินเรือ รวมทั้งการออกคำสั่งให้เรือออกเดินทางได้ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูง จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงต่อการบริหารกลยุทธ์ขององค์การ
ผู้บริหารระดับสูง มักประกอบด้วย ผู้จัดการใหญ่ และ/หรือรองผู้จัดการใหญ่ และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ต่างๆซึ่งมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบบริหารงานขององค์การโดยรวมให้สัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อม กล่าวคือให้การดำเนินงานตามภารกิจนั้นๆ เป็นไปได้ด้วยดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ผู้บริหารระดับสูง มักใช้เรียกกันในวงการบริหารธุรกิจ เช่น บริษัท โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ธนาคาร และ โรงแรม เป็นต้นเครือจักรภพใช้คำว่า CEO เพื่อหมายถึงหัวหน้าผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานสาธารณะหรือของรัฐ ในขณะที่ในบริษัทส่วนบุคคลของอังกฤษใช้คำว่า “Managing Director” หรือ “ผู้จัดการใหญ่” หรือ “ผู้อำนวยการ”
ในประเทศไทยได้นำ CEO มาใช้ในวงการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด CEO” หรือ “ผู้ว่า CEO” คือให้หน่วยงานราชการในจังหวัดมีการบริหารจัดการอย่างมียุทธศาสตร์โดย “ผู้ว่าฯ CEO” ที่เป็นหัวหน้าสูงสุดและคณะผู้บริหารจังหวัด ต้องพัฒนายุทธศาสตร์ขึ้นมาเอง และบริหารจัดการอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ใช่รอรับนโยบายจากส่วนกลางหรือจากกระทรวงมหาดไทยอย่างเดียวอีกต่อไป
ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Managers)
นอกจาก ผู้บริหารระดับสูง แล้ว ยังหน่วยงานบางหน่วยงาน กำหนดให้มี ผู้บริหารระดับกลาง อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นรองผู้บริหารระดับสูงก็ได้ คำว่า “ผู้บริหารระดับกลาง” นี้ มีความเป็นมาจากการที่ลิซ่า ฮาเนเบิร์ก (Lisa Haneberg) ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ H.I.M.M. (High Impact Middle Management) ได้กล่าวว่า ผู้บริหารระดับกลาง เช่น ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ จนถึงรองประธานนั้นมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้กลยุทธ์การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปได้จริงในส่วนของการปฏิบัติการ ถ้าหากว่าผู้บริหารระดับกลางไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่องค์กรจะสามารถนำวิสัยทัศน์หรือกลยุทธ์ของ ผู้บริหารระดับสูง มาปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จได้
และลิซ่า ฮาเนเบิร์ก ได้ให้ความหมายของ ผู้บริหารระดับกลาง ว่า หมายถึง รองหัวหน้าหน่วยงาน ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หรือหัวหน้าฝ่าย ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์การไปสู่การปฏิบัติ เป็นผู้มีความสำคัญในการเชื่อมโยงและถ่ายทอดยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้อย่างสวยหรูขององค์การออกมาเป็นแผนงาน โครงการ และให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ
ขอยกตัวอย่างผู้บริหารระดับกลางที่เป็นรูปธรรมของไทยเรา คือมีข่าวที่น่าสนใจว่า กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่จะพัฒนาผู้บริหารระดับกลางและผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค เพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นนักบริหารมืออาชีพ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะ รวมทั้งประสานและร่วมมือกันทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Followers