มาทำความเข้าใจกับ
คำว่า “การบริหาร ( Administration )” กันก่อน
เนื่องจากทุกคนทุกวงการเกี่ยวข้องกับคำว่า “การบริหาร” จึงควรที่จะมาทำความเข้าใจกับคำว่า “การบริหาร” กันก่อน มีผู้ให้ความหมายคำว่า “การบริหาร” ไว้หลากหลาย ทั้งคล้ายๆกันและแตกต่างกัน ขอยกตัวอย่างสัก 6 ความหมาย ดังนี้
การบริหาร คือ ศิลปะของการทำงานให้สำเร็จโดยใช้บุคคลอื่น
การบริหาร คือ การทำงานของคณะบุคคล ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่ร่วมกันปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
การบริหาร คือ การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันทำงาน เพื่อจุดประสงค์อย่างเดียวกัน
การบริหาร คือ กิจกรรมที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันดำเนินการ ให้บรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน
การบริหาร คือ การใช้ศาสตร์และศิลปะนำทรัพยากรการบริหาร (Administrative resource) มาประกอบการตามกระบวนการบริหาร (Process of administration ) ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหาร คือศิลปะในการทำให้สิ่งต่างๆได้รับการกระทำจนเป็นผลสำเร็จ หมายความว่าผู้บริหารไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ แต่ใช้ศิลปะทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานจนเป็นผลสำเร็จตรงตามจุดหมายขององค์การ หรือตรงตามจุดหมายที่ผู้บริหารตัดสินใจเลือกแล้ว
จากความหมายของ “การบริหาร” ทั้ง 6 ความหมายนี้ จึงพอสรุปได้ว่า “การบริหาร คือการดำเนินงานของกลุ่มบุคคลเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่วางไว้” นั่นเอง

ขอบข่ายของการบริหาร
ขอบข่ายของการบริหารแบ่งออกเป็น 3 แขนงใหญ่ๆด้วยกันคือ
1.การบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ (Publiic Administration) หรือเรียกกันทั่วๆไปว่า “การบริหารราชการแผ่นดิน” หรือ “การบริหารรัฐกิจ” เป็นการบริหารกิจการของรัฐ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ไม่ได้หวังผลกำไรเป็นเงิน เป็นการบริหารงานตั้งแต่ระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงหมู่บ้าน มีการเรียนการสอนกันในคณะรัฐศาสตร์ และ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นต้น
2.การบริหารธุรกิจ (Business Administration) เป็นการบริหารกิจการของเอกชน เช่น สถานประกอบการ ธนาคาร โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม บริษัท ร้านค้า เพื่อมุ่งหวังผลกำไรเป็นเงิน มีการเรียนการสอนกันในคณะบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์ เป็นต้น
3.การบริหารการศึกษา (Education Administration) เป็นการบริหารกิจการต่างๆเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ให้เป็นคนเก่งคนดีมีความสุข คือให้มีทั้งความรู้ ความสามารถ ความคิดและความเป็นคนดี ไม่ได้หวังผลกำไรเป็นเงินเช่นเดียวกับการบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ มีการเรียนการสอนกันในคณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ เป็นต้น
ความแตกต่างของการบริหารทั้ง 3 แขนง
จากขอบข่ายของการบริหารทั้ง 3 แขนง เมื่อนำมาวิเคราะห์จากทฤษฎี 4 Ps ซึ่งประกอบด้วย
1. Purpose (ความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์)
2. People (บุคคล)
3. Process (กรรมวิธีในการดำเนินงาน)
4. Product (ผลผลิต)
จะเห็นความแตกต่างของการบริหารทั้ง 3 แขนงอย่างชัดเจน ดังนี้
1.Purpose (ความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์) จะเห็นได้ว่า การบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ มีความมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข มีถนนหนทาง มีไฟฟ้ามีน้ำประปาใช้ มีคลองส่งน้ำ มีบริการทางสุขภาพ มีบริการจัดหางานอาชีพ การจัดบริการไม่หวังผลกำไรเป็นเงิน การบริหารธุรกิจ มีความมุ่งหมายเพื่อต้องการผลกำไรเป็นเงิน แต่ การบริหารการศึกษา มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ให้เป็นคนเก่งคนดีมีความสุข คือให้เป็นคนที่มีทั้งความรู้ ความสามารถ ความคิดและความเป็นคนดี โดยไม่หวังผลกำไรเป็นตัวเงิน
2.People (บุคคล) แบ่งย่อยออกเป็นผู้ให้บริการ กับ ผู้รับบริการ ดังรายละเอียด ดังนี้
2.1 ผู้ให้บริการ บุคคลที่เป็นผู้ให้บริการในการบริหารการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน อธิการบดี ตลอดจนผู้บริหารการศึกษาต้องเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นคนดี เป็นคนเก่ง และเป็นบุคคลที่เป็นตัวอย่างแก่ผู้รับบริการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือเป็นบุคคลที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็น “ปูชนียบุคคล” คือเป็นบุคคลที่น่าเคารพนับถือ ซึ่งเป็นบุคคลที่แตกต่างไปจากผู้บริหารหรือบุคคลที่เป็นผู้ให้บริการในการบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ และ การบริหารธุรกิจ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้จัดการใหญ่ นายธนาคาร ผู้จัดการโรงงาน เป็นต้น
2.2 ผู้รับบริการ บุคคลที่เป็นผู้รับบริการในการบริหารการศึกษา ส่วนมากเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นเด็กที่ยังไม่มีรายได้ ต้องพัฒนาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพต่อไป และจะต้องพัฒนาให้เป็นคนเก่งคนดีเพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในภายหน้า เรียกกันว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กจะต้องได้รับการพัฒนา แต่บุคคลที่เป็นผู้รับบริการในการบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ และ การบริหารธุรกิจ ส่วนมากเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะหรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นผู้มีรายได้แล้ว
3.Process (กรรมวิธีในการดำเนินงาน) จะพบว่า การบริหารการศึกษา มีกรรมวิธีที่ละเอียดอ่อน ในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพให้เด็กเป็นคนเก่งคนดีและมีความสุข ซึ่งมีกรรมวิธีที่หลากหลายและละเอียดอ่อน เช่น การเรียนการสอน การฝึกอบรม การจัดกิจกรรม การวัดและประเมินผลการสอน ทั้งยังแตกต่างกับกรรมวิธีของการบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ และการบริหารธุรกิจอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้นการรบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ และการบริหารธุรกิจจะนำกรรมวิธีทางการบริหารการศึกษาไปใช้ไม่ได้อีกด้วย
4.Product (ผลผลิต) ผลผลิตทางการบริหารการศึกษา คือได้คนที่มีคุณภาพซึ่งเป็นนามธรรม คือเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนแล้วสำเร็จการศึกษาออกไป จะได้เด็กที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีความคิด มีความสามารถ และเป็นคนดี ซึ่งจะมองเห็นได้ยากเพราะเป็นนามธรรม จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ผลผลิตทาง การบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ง่าย เช่น มีถนนหนทาง มีคลองระบายน้ำ มีไฟฟ้ามีน้ำประปาใช้ มีผลผลิตทางการเกษตร มีบริการจัดหางานให้ประชาชน ส่วนการบริหารธุรกิจ ก็เป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ง่ายเช่นกัน เช่น มีผลกำไรเป็นตัวเงิน มีผลผลิตที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่นเมื่อนำผลไม้ เหล็ก ไม้ เข้าไปในโรงงานจะได้ผลผลิตที่ออกจากโรงานเป็นผลไม้กระป๋อง วิทยุ โทรทัศน์ โต๊ะ ตู้ เป็นต้น
จากรายละเอียดทั้งหมดนี้จะพบว่าการบริหารทั้ง 3 แขนงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจ

Followers